top of page
ผู้แต่ง

             พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒)

 

ลักษณะคำประพันธ์

              ๑ เป็นกลอนบทละคร บทหนึ่งมี ๔ วรรค วรรคละ ๖ คำ หนึ่งบทมี ๒ บาท เรียกว่าบาทเอก
และบาทโท ๑ บาท เท่ากับ ๑ คำกลอน   มีลักษณะการสัมผัสดังนี้สัมผัสระหว่างวรรคไม่บังคับตายตัว
ให้สังเกตจากแผนผัง วรรคที่ ๑อาจจะสัมผัสกับตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งตามเส้นสัมผัสในวรรคที่ ๒

               ๒. คำขึ้นต้นบท กลอนบทละครมีคำขึ้นต้นหลายแบบ และคำขึ้นต้นนั้น
ไม่จำเป็นต้องมีจำนวนเท่ากับวรรคสดับ อาจจะมีเพียง ๒ คำก็ได้ คำขึ้นต้นมีดังนี้

                               ๒.๑ มาจะกล่าวบทไป มักใช้เมื่อขึ้นต้นเรื่อง หรือกล่าวถึงเรื่องแทรกเข้ามา

                               ๒.๒ เมื่อนั้น ใช้สำหรับผู้มียศสูง หรือผู้เป็นใหญ่ในที่นั้นตามเนื้อเรื่อง เช่นกษัตริย์ ราชวงศ์

                               ๒.๓ บัดนั้น ใช้ขึ้นต้นสำหรับผู้น้อยลงมา เช่น เสนา ไพร่พล  

 

ประวัติที่มาของเรื่อง

              สังข์ทองเป็นเรื่องที่ได้มาจากสุวัณสังขชาดก (สุ-วัน-นะ-สัง-ขะ-ชา-ดก) ซึ่งเป็นนิทาน
เรื่องหนึ่งในปัญญาสชาดก(ปัน-ยา-สะ-ชา-ดก) ของท้องถิ่น  ในภาคเหนือและภาคใต้มีสถานที่
ที่กล่าวถึงเนื้อเรื่องในสังข์ทองกล่าวคือเล่ากันว่าเมืองทุ่งยั้ง เป็นเมืองท้าวสามนต์ ใกล้วัดมหาธาตุมีลานหิน
เป็นสนามตีคลีของพระสังข์ ส่วนในภาคใต้ เชื่อว่าเมืองตะกั่วป่าเป็นเมืองท้าวสามนต์ และเรียกภูเขาลูกหนึ่งว่า
"เขาขมังม้า" เนื่องจากเมื่อพระสังข์ตีคลีชนะได้ขี่ม้าข้ามภูเขานั้นไป

บทละครพระราชนิพนธ์เรื่อง สังข์ทอง มี ๙ ตอน คือ

๑ . กำเนิดพระสังข์

๒. ถ่วงพระสังข์

๓. นางพันธุรัตน์เลี้ยงพระสังข์

๔. พระสังข์หนีนางพันธุรัต

๕. ท้าวสามนต์ให้นางทั้งเจ็ดเลือกคู่

๖. พระสังข์ได้นางรจนา

๗. ท้าวสามนต์ให้ลูกเขยหาปลาหาเนื้อ

๘. พระสังข์ตีคลี

๙. ท้าวยศวิมลตามพระสังข์

 

เนื้อเรื่องย่อ

สังข์ทอง ตอน กำเนิดพระสังข์
          ณ เมืองยศวิมลนคร อันมีท้าวยศวิมลเป็นเจ้าเมือง พระมเหสีจันเทวีได้คลอดลูกออกมาเป็นหอยสังข์
จึงถูกพระนางจันทา มเหสีรอง ใส่ร้ายว่าเป็นกาลีบ้านเมือง จนถูกขับออกจากเมืองไปอยู่กระท่อมตายายที่ชายป่า  จนกระทั่งพระสังข์ที่ซ่อนอยู่ในหอย ได้ออกมาพบแม่ สร้างความยินดีกับพระนางจันเทวี ข่าวล่วงรู้ไปถึงนางจันทาจึงได้ส่งคนมาจับพระสังข์ไปถ่วงน้ำ แต่ท้าวภุชงค์พญานาคราชช่วยเอาไว้ และส่งให้ไปอยู่กับ นางพันธุรัต  พระสังข์รู้ว่านางพันธุรัตเป็นยักษ์จึงขโมยรูปเงาะ ไม้เท้า เกือกแก้ว เหาะหนีมาอยู่บนเขา นางพันธุรัตตามมาทันแต่ไม่สามารถขึ้นไปหาพระสังข์ได้ จึงได้มอบมนต์มหาจินดา เรียกเนื้อเรียกปลาให้แก่พระสังข์ก่อนที่จะอกแตกสิ้นใจตายที่เชิงเขา นั่นเอง พระสังข์เหาะมาจนถึงเมืองสามล ท้าวสามลและนางมณฑากำลังจัดพิธีเลือกคู่ให้ธิดาทั้งเจ็ด แต่รจนาพระธิดาองค์สุดท้อง ไม่ยอมเลือกใครเป็นคู่ ท้าวสามลจึงให้คนไปตามเจ้าเงาะมาให้เลือก รจนาเห็นรูปทองที่ซ่อนอยู่ในรูปเงาะจึงเสี่ยงมาลัยไปให้ สร้างความพิโรธให้ท้าวสามลจึงถึงกับขับไล่รจนาให้ไปอยู่กระท่อมปลายนากับเจ้าเงาะ ท้าวสามลหาทางแกล้งเจ้าเงาะ โดยการให้ไปหาเนื้อหาปลาแข่งกับเขยทั้งหก  เจ้าเงาะให้มนต์ที่นางพันธุรัตให้ไว้เรียกเนื้อ เรียกปลามารวมกันทำให้หกเขยหาปลาไม่ได้ จึงต้องยอมตัดปลายหูและปลายจมูกแลกกับเนื้อและปลา ท้าวสามลพิโรธมากจนถึงกับคิดหาทางประหารเจ้าเงาะ ร้อนถึงพระอินทร์ต้องหาทางช่วยโดยการลงมาท้าตีคลีชิงเมือง กับท้าวสามล ท้าวสามลส่งหกเขยไปสู้ก็สู้ไม่ได้ จึงต้องยอมให้เจ้าเงาะไปสู้แทน เจ้าเงาะถอดรูปเป็นพระสังข์และสู้กับพระอินทร์ จนชนะ ท้าวสามลจึงยอมรับพระสังข์กลับเข้าเมืองและจัดพิธีอภิเษกให้ พระอินทร์ไปเข้าฝันท้าวยศวิมล เพื่อบอกเรื่องราวทั้งหมด ท้าวยศวิมลจึงออกตามหาพระนางจันเทวีจนพบ และได้เดินทาน ไปเมืองสามลนครเพื่อพบพระสังข์ โดยพระนางจันเทวีได้ปลอมเป็นแม่ครัวในวังและได้แกะสลักเรื่องราวทั้งหมดบนชิ้นฟัก ให้พระสังข์เสวย ทำให้พระสังข์รู้ว่าแม่ครัวคือพระมารดานั่นเองพระสังข์และรจนาจึงได้เสด็จตามท้าวยศวิมลและพระนาง จันเทวีกลับไปครองเมืองยศวิมลสืบไป

 
คุณค่าจากเรื่อง

-คุณค่าด้าววรรณศิลป์

             บทละครนอก มิใช่บทสำหรับแสดงละครเพียงอย่างเดียว แต่ใช้เป็นวรรณคดีสำหรับอ่านด้วย

 โดยมีความสำคัญควบคู่กันไป เพราะในการอ่านบทละครนั้น ผู้อ่านจะอ่านเนื้อเรื่องโดยตลอด
ส่วนในการแสดงก็คงจะนิยมนำมาแสดงเป็นตอนๆ ไม่ได้แสดงที่เดียว จบทั้งเรื่อง เช่น เรื่องสังข์ทองก็นิยมแสดงตอนนางมณฑาลงกระท่อมมากกว่าตอนอื่นๆ เป็นต้น ผู้ดูละครต้องการความบันเทิงและการผ่อนคลายอารมณ์จากความตึงเครียด ต้องการประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ได้จากการดูละคร ซึ่งก็เป็นความจริงของชีวิตที่แฝงอยู่ในบทละครนั้น
            ละครจึงมีส่วนช่วยและมีบทบาทในการดำเนินชีวิตของมนุษย์อยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยก่อน
ที่คนไทยส่วนใหญ่อ่านหนังสือไม่ออก และมีมหรสพให้ชมอยู่ไม่กี่ชนิด

-คุณค่าด้านสังคม    

             ๑. ค่านิยมในสังคม วัฒนธรรม และแนวทางการดำเนินชีวิต  โดยต้องการปลูกฝังทัศนคติลง

ไปในจิตใจของคนไทย เช่น ทัศนคติเกี่ยวกับความซื่อสัตย์จงรักภักดีของผู้หญิงที่มีต่อสามี
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ บทบาทของนางจันท์เทวีและนางรจนา เช่น นางรจนาคร่ำครวญตอนท้าวสามนต์
ให้หาปลาถวาย

             ๒. การรักพวกพ้อง รักชาติบ้านเมือง ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ  พฤติการณ์ของหกเขย

และการตีคลีพนันกับพระอินทร์ เช่น ตอนนางมณฑาขอร้องให้เจ้าเงาะช่วย

             ๓. การทำความดี มีตัวอย่างปรากฏตลอดทั้งเรื่อง เช่น การที่ท้าวภุชงค์และนางพันธุรัตรับ

เลี้ยงดูพระสังข์ ตายายช่วยเหลือนางจันท์เทวีนายประตูเมืองสามนต์ช่วยเหลือท้าวยศวิมล เป็นต้น

 

 
 
 
 
ที่มา :  เรื่องย่อวรรณคคีไทย.เข้าถึงวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๘  จาก,http://www.thaigoodview.com /node/19304
bottom of page